กินได้...ง่ายนิดเดียว
โดย ผศ.จิตติรัตน์ ทัดเทียมรมย์
ได้เคยเขียนเรื่องพฤติกรรมการกินของเด็กออทิสติกไปแล้วว่า เรื่องกินเรื่องใหญ่ ความหมายนัยนี้ ไม่ได้หมายความว่า เด็กออทิสติกเห็นความสำคัญของเรื่องกินจนไม่สนใจเรื่องอื่น แต่หมายถึงเด็กออทิสติกกว่าจะกินอะไรได้แต่ละอย่าง กลายเป็นเรื่องยุ่งยากไปหมด เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ผู้อยู่รอบข้างสับสน ต้องหาทางแก้ไข ลองผิดลองถูกกันไป
เรื่องที่เขียนในวันนี้ ท่านผู้อ่านจะได้รู้เทคนิคการปรับพฤติกรรมที่จะช่วยเหลือเด็กในการกินอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเมื่ออ่านแล้ว ท่านอาจจะร้องว่า “กินได้...ง่ายนิดเดียว” จริงๆ
อาจารย์ดรุณวรรณ แก้วหนูนวล อาจารย์ประจำโครงการการศึกษาพิเศษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องดูแลให้ความช่วยเหลือเด็กออทิสติกในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 2 คน คือ เกียรติและนิว ซึ่งมีปัญหาเรื่องการกินทั้งคู่ โดยเฉพาะนิวจะมีปัญหาเรื่องส้มมาก เหตุผลที่ให้แก่อาจารย์ไม่มีอะไรมากนอกจาก “ไม่ชอบ ไม่อยากกิน” เมื่อส้มมากับถาดอาหารกลางวัน นิวจะเอามาให้อาจารย์หยิบออกหรือไม่ก็เขี่ยลงถังขยะทันที
อาหารทั้งหลายถ้าเด็กกินเข้าไปแล้วไม่มีผลเสียต่อร่างกายหรือสุขภาพของเด็ก เช่น กินเข้าไปแล้วเป็นผื่น อาเจียน ปวดท้อง หรืออาการแพ้อื่นๆ ควรจะฝึกให้เด็กได้กินอาหารนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของตัวเด็กเอง
อาจารย์ดรุณวรรณได้ปรับพฤติกรมการกินส้มของนิวในครั้งนี้ โดยใช้เทคนิค Chaining คือการนำพฤติกรรมย่อยมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการ และยังใช้เทคนิค Systematic Desensitization คือการนำเอาการตอบสนองอย่างหนึ่งไปแทนที่การตอบสนองอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการนำการผ่อนคลายไปแทนที่ความวิตกกังวลนั่นเอง
เทคนิคการปรับพฤติกรรมได้ดำเนินการในลักษณะดังนี้ เริ่มแรกอาจารย์ดรุณวรรณได้พูดคุยกับลูกศิษย์ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความวิตกกังวล เล่าถึงคุณประโยชน์ของส้มว่ามีอะไรบ้าง ส้มเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซี ช่วยทำให้โรคหวัดหายเร็ว ป้องกันโรคหัวใจ ทำให้เหงือกแข็งแรง แผลหายเร็ว ป้องกันอาการแพ้ ช่วยลดอาการหอบหืด ช่วยเรื่องความจำ เพราะวิตามินซีจะช่วยรักษาสภาพเซลประสาทไม่ให้เสื่อมเร็ว และที่สำคัญ คือส้มมีกากใยมาก ช่วยให้ขับถ่ายได้คล่อง คนกินส้มได้ นอกจากจะมีสุขภาพดีแล้ว สมองก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก นิวอยากเป็นคนเก่งหรือไม่ ถ้าอยากเป็นคนเก่งก็มาลองหัดกินส้มกัน
การให้ข้อมูลละเอียดนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กพิเศษอย่างนิว ซึ่งมีระดับสติปัญญาเหนือเกณฑ์เฉลี่ย เมื่อรู้รายละเอียดชัดเจน จะช่วยประกอบการตัดสินใจ การให้ความร่วมมือ และพัฒนาทักษะกระบวนการคิดได้ดียิ่งขึ้น
ถึงแม้นิวจะไม่เคยกินส้ม แต่นิวก็รู้จักส้มเป็นอย่างดี รู้ว่าส้มมีลักษณะอย่างไร สีอะไร อาจารย์ดรุณวรรณให้นิวถือส้มไว้ในมือ จะบีบจะจับอย่างไรก็ได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความคุ้นเคยและลดอาการวิตกกังวล
เมื่อคุ้นเคยกับรูปลักษณ์ของส้มแล้ว ต่อมาก็ลองปอกเปลือก มืออาจารย์และมือศิษย์ สี่มือช่วยกันปอกล้ม อาจารย์ให้ลูกศิษย์สังเกตทุกขั้นตอน ส้มเมื่อไม่มีเปลือกแล้วมีลักษณะอย่างไร ทั้งสี กลิ่น และความน่ากิน ให้ดมให้จับ และให้บอกความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้นๆ ว่ารู้สึกอย่างไร
จากนั้นให้นิวแกะส้มเป็นกลีบใส่จาน อาจารย์หยิบส้มขึ้นมา 1 กลีบ แบ่งครึ่ง เขี่ยเมล็ดออก แล้วกินพร้อมๆ กัน นิวกินส้มหมดชิ้น ท่ามกลางกำลังใจจากเพื่อนๆ อาจารย์เองก็ให้คำชมนิวเช่นกัน
นิวกลืนส้มคำแรกด้วยอาการพะอืดพะอม ทำท่าจะอาเจียน อาจารย์จึงให้นิวเอามือจับที่ลำคอกุมไว้เบาๆ แล้วบอกว่าการกระทำอย่างนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้นิวอาเจียนตอนกินส้ม เมื่อนิวปฏิบัติแล้วปรากฏว่านิวสามารถกินส้มได้ วิธีการนี้เท่ากับเป็นการเสริมความมั่นใจให้นิวมากยิ่งขึ้น
การกินส้มเริ่มจากปริมาณน้อย แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยให้นิวมีส่วนร่วมในการกำหนดปริมาณส้มที่จะกินในแต่ละครั้ง และเพื่อให้การปรับพฤติกรรมได้ผลมากขึ้น ทางอาจารย์ดรุณวรรณจึงขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง ให้นำวิธีการนี้ไปใช้ที่บ้านด้วย
การฝึกทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ นิวรู้สึกคุ้นเคย มั่นใจว่าปลอดภัย และรสชาติคงถูกปากมากขึ้น นิวสามารถดื่มน้ำส้มได้หมดขวด และยังมาขอส้มกินด้วยตนเอง ในที่สุดนิวก็สามารถกินส้มได้โดยไม่ต้องจับคอ แต่จะใช้มือจับคอเมื่อต้องกินอาหารที่ตนไม่ชอบอื่นๆ เช่น ขนมหวาน หรือผลไม้ชนิดอื่น
เมื่อต้องการจะปรับพฤติกรรมต้องทำอย่างต่อเนื่องจนเด็กเกิดความคุ้นเคย และสามารถนำไปปฏิบัติได้เอง ความร่วมมือของบุคคลรอบข้าง จะช่วยเสริมให้การปรับพฤติกรรมประสบผลสำเร็จในที่สุด