DeeZan ชุมชนคนรักดี(ซ่าน)
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.


แบ่งปัน สิ่งดีๆ สาระ ความรู้ สารพัน บันเทิง (ปี 8)
 
บ้านGalleryLatest imagesค้นหาสมัครสมาชิก(Register)เข้าสู่ระบบ(Log in)

 

 “ภูมิแพ้จมูกในเด็ก” ป้องกันได้!!

Go down 
ผู้ตั้งข้อความ
starblue
Oxytocin
Oxytocin
starblue



“ภูมิแพ้จมูกในเด็ก” ป้องกันได้!! Empty
ตั้งหัวข้อเรื่อง: “ภูมิแพ้จมูกในเด็ก” ป้องกันได้!!   “ภูมิแพ้จมูกในเด็ก” ป้องกันได้!! Icon_minitime30/3/2009, 21:12

:pale: การจามเป็นหนึ่งในอาการโรคภูมิแพ้ชนิดที่เรียกกันว่า โรคภูมิแพ้จมูก (Allergic Rhinitis) หรือว่า “แพ้อากาศ” นั่นเอง เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น มากกว่า 80% ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มีอาการก่อนอายุ 20 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในคนทุกวัย

โรคภูมิแพ้จมูกนี้มีอาการเรื้อรัง สร้างความรำคาญให้แก่ผู้ป่วย และอาจเกิดโรคแทรกซ้อน ต่างๆ ได้ เช่น ไซนัสอักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองไวเกินต่อสารก่อภูมิแพ้ เมื่อใดก็ตามที่มีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย จะมีสารที่ชื่อว่า อิมมูโนโกลบูลินอี (Immunoglobulin E; IgE) ถูกสร้างขึ้นมาและเข้าทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ที่หายใจเข้าไป เป็นผลให้เซลล์บางชนิดภายในจมูก มีการแตกตัวและหลั่งสารเคมีออกมาทำให้เกิดการอักเสบ และมีอาการต่างๆ ของโรคตามมา

โรคภูมิแพ้จมูก มีสาเหตุจากอะไรบ้าง?

กรรมพันธุ์ ถ้าพบว่าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึง 50% และถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้นถึง 70% และมักจะมีอาการเร็ว

สิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้มักจะเป็นสารที่เด็กได้รับเข้าไป ซึ่งอาจเป็นจากการหายใจ สัมผัส รับประทาน หรือฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งแบ่งเป็น

- สารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ฝุ่น, ไรฝุ่น, แมลงสาบ, รังแคหรือขนของแมวและสุนัข, เชื้อราในอากาศ, ควันบุหรี่

- สารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน เช่น ละอองหญ้า, เกสรดอกไม้, ฝุ่นละออง, ควันจากรถยนต์, ควันไฟจากการหุงต้มอาหาร, ก๊าซพิษ

- ปัจจัยอื่นๆ เช่น ทารกที่ได้รับนมมารดาเพียงอย่างเดียวเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน พบว่ามีโอกาสเกิดภูมิแพ้น้อยลง, ทารกที่ได้รับอาหารเสริม ตั้งแต่อายุ 4 เดือนมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้มากกว่าทารกที่ไม่ได้รับอาหารเสริมถึง 3 เท่า

อาการของโรค

ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย คันในจมูก และมีเสมหะไหลลงคอ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นตลอดปี หรือเพียงบางฤดูกาลก็ได้ โดยเฉพาะฤดูฝนหรือฤดูหนาว บางรายอาจมีอาการทางตาร่วมด้วย เช่น คันตา เคืองตา ตาบวม น้ำตาไหล อันเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุภายในตา ที่เรียกว่า Allergic conjunctivitis ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเฉพาะบางเวลา เช่น ตอนเช้าหรือกลางคืน ประมาณวันละ 1 - 2 ชั่วโมง

อาการของโรคนี้ต่างจากอาการหวัดอย่างไร

อาการของโรคภูมิแพ้จมูกมักมีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ อาการเด่น คือ น้ำมูกใส จาม และคัดจมูก คันจมูก บางครั้งอาจมีคันตาร่วมด้วย โดยมักไม่มีไข้ อาจมีอาการไอเรื้อรังด้วย เนื่องจากมีเสมหะไหลลงคอทำให้ระคายคอ หากมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วยครั้งนั้นน่าจะเป็นหวัดมากกว่า นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูก มักมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิแพ้ด้วย เช่นโรคภูมิแพ้จมูก, โรคหอบหืด, แพ้อาหาร, ลมพิษเรื้อรัง, ผื่นแพ้

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคภูมิแพ้จมูก

โรคไซนัสอักเสบ (Sinisitis) ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ในกระดูกบริเวณใกล้จมูกมี ส่วนท่อต่อกับจมูก ทำให้อากาศผ่านเข้าออกได้ เมื่อเยื่อบุภายในจมูกบวมอักเสบ จะทำให้ท่อต่อนี้อุดตัน เกิดการติดเชื้อในโพรงไซนัส เกิดเป็นโรคไซนัสอักเสบ โดยมีอาการปวดบริเวณไซนัส ปวดศีรษะ น้ำมูกเขียว บางครั้งมีเสมหะไหลลงคอ

หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) ผู้ป่วยมีอาการปวดหู หูอื้อ ถ้าเป็นเรื้อรังอาจมีหนองไหลออกจากหูเนื่องจากมีเยื่อแก้วหูทะลุ

นอนกรน (Snoring) ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกจะมีเยื่อบุจมูกบวม บางครั้งอาจมีต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โตร่วมด้วย มีผลทำให้ช่องทางเดินหายใจถูกอุดกั้น และมีอาการกรนเกิดขึ้น ถ้าอาการรุนแรงอาจมีหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอน ออกซิเจนต่ำ และมีผลต่อสมอง ทำให้เด็กสมาธิสั้น ส่งผลต่อพฤติกรรมและการเรียนรู้ได้

การรักษาและการป้องกัน

ในครอบครัวที่ทารกมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ ควรส่งเสริมให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาเพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน

เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ได้แก่ การรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนาน 30 นาที ความถี่ 3 - 4 ครั้ง/สัปดาห์

ควรดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี ห้องนอน ควรใช้เครื่องนอนที่เหมาะสม ไม่ควรใช้หมอนหรือที่นอนที่ทำจากนุ่น และควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ งดใช้พรม ไม่สะสมหนังสือ ของเล่นหรือตุ๊กตาที่มีขนในห้องนอน ทำความสะอาดที่นอน หมอน ผ้าห่มเป็นประจำ โดยใช้การซักด้วยน้ำร้อน 60 องศา นาน 15 - 20 นาที เพื่อฆ่าตัวไรฝุ่น และตากแดดให้แห้ง ควรทำความสะอาด ดูดฝุ่น เช็ดถูพื้นเรือน ผ้าม่าน และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ งดการสูบบุหรี่ในบ้าน

ไม่ควรใช้แป้งฝุ่น สเปรย์ปรับอากาศ และยาจุดกันยุง อาจเลือกใช้ผ้าใยสังเคราะห์พิเศษเพื่อคลุมที่นอนและหมอน เพื่อป้องกันไรฝุ่น หรือใช้เครื่องกรองอากาศชนิดที่เป็น HEPA Filter ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนในบ้าน เช่น แมว, สุนัข กำจัดขยะและเศษอาหารต่างๆ ควรมีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันแมลงสาบ และหลีกเลี่ยงสารระคายเคือง เช่น ท่อไอเสีย รถยนต์

กรณีที่พยายามหลีกเลี่ยง และพยายามออกกำลังกายแล้วอาการยังมีอยู่แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางและรับการรักษาเห็นจะเป็นอีกทางเลือกที่ดี... cheers

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ
ขึ้นไปข้างบน Go down
 
“ภูมิแพ้จมูกในเด็ก” ป้องกันได้!!
ขึ้นไปข้างบน 
หน้า 1 จาก 1

Permissions in this forum:คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
DeeZan ชุมชนคนรักดี(ซ่าน) :: ความรู้ต่างๆ วรรณกรรม บทความ นวนิยาย นิยาย กลอนเพราะ และอื่นๆ :: อาหาร เคล็ดลับกับการดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว ตะลอน..ทัวร์ Travel-
ไปที่: