ปีหน้านักเรียนก็จะได้การบ้านน้อยกว่าปีนี้ ... คิดแล้วดีจัง
ขนาดการบ้านมากเด็กยัง อ่าน คิด วิเคราะห์ ได้น้อย คิดแล้ว...
ไม่รู้จะดีใจ หรือ เสียใจแทน เด็กๆ ดี .... การศึกษาไทยจงเจริญ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในประเด็น "ลดการบ้านของนักเรียน" และ "เครื่องแบบนักเรียน"
● การลดการบ้านนักเรียน
จากการที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ข้อสรุปในการปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๔๔ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๕๑ ตามนโยบายของ รมว.ศธ.โดยจะดำเนินการเป็น ๒ ระยะ ได้แก่ ๑) ระยะเร่งด่วน ซึ่งจะดำเนินการให้ทันเปิดภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ โดยจะเน้นบูรณาการทั้งเนื้อหา เวลาเรียน การวัดและประเมินผล ตลอดจนการบ้านที่ต้องมีการบูรณาการทุกกลุ่มสาระวิชา และจะต้องลดภาระงานของนักเรียนด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยต้องทำการบ้านมาก ทำให้เด็กเกิดความเครียด
ดังนั้นในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ เป็นต้นไป นักเรียนทุกระดับชั้นในโรงเรียนสังกัด สพฐ.จะมีภาระการเรียนในห้องเรียนลดลง และจะมีโอกาสเรียนรู้และทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น รวมทั้งจะไม่ใช้วิธีการที่ครูมีอำนาจเหนือนักเรียน ครูจะไม่สามารถให้การบ้านเด็กได้ตามใจชอบอีกต่อไป หากครูให้การบ้านเด็กจนเกิดความทุกข์ทรมาน ก็สามารถร้องเรียนมาได้ที่ สพฐ.เพื่อให้เกิดการปรับปรุงต่อไป ๒) ระยะที่ ๒ ของการปฏิรูปหลักสูตร สพฐ.จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ ๖-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เพื่อพิจารณาทบทวนมาตรฐาน และตัวชี้วัดของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้วิพากษ์วิจารณ์ว่ามีมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดใดบ้างที่มีมากเกินความจำเป็น เพื่อที่จะได้ตัดทอนและปรับปรุงต่อไป
รมว.ศธ.ย้ำว่า เรื่องของการบ้านจะต้องพิจารณาในภาพรวมตามวัยของเด็ก ไม่สามารถดูเฉพาะบางช่วงหรือบางจุดได้ เพราะเด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน เช่น เด็กอนุบาลหรือประถมศึกษาตอนต้น ก็ไม่ควรจะต้องเรียนมากและไม่ควรมีการบ้าน หรือหากมีก็ควรให้การบ้านในจำนวนที่น้อย แต่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็คงจะต้องเรียนหนักกว่า หรือมีการบ้านมากกว่าอยู่แล้ว ยกเว้นบางช่วงเวลาที่จะต้องเร่งรัดการเรียน หรือใช้เวลาทุ่มเทในการเตรียมตัวสอบมากขึ้น ก็อาจจะต้องลดการบ้านลง
"การบ้าน" จึงควรเป็นส่วนส่งเสริมและกระตุ้นเด็กมากกว่าที่จะทำให้เด็กเครียด จึงควรลดการบ้านที่ไม่มีความจำเป็น อย่างไรก็ตามยังมีการบ้านบางประเภทที่เด็กไม่รู้สึกว่าเป็นการบ้าน เช่น การกำหนดให้เด็กอ่านหนังสืออย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ เล่ม ฉะนั้นเด็กจะอ่านเมื่อไรก็ได้ ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ ศธ.ต้องการให้การมาโรงเรียนของเด็กเป็นเรื่องสนุก เพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจและรักการศึกษา เพราะหากเราทำให้เด็กกลัวการศึกษา หรือกลัวการมาโรงเรียนแล้ว เด็กก็คงไม่อยากมาเรียน ส่วนวิธีการต่างๆ ในการดำเนินการนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวทางดำเนินการที่จะกำหนดไว้แล้วว่าเด็กวัยใดควรจะเรียนรู้อะไร อย่างไร ตามความเหมาะสม
● เครื่องแบบนักเรียน
จากการที่ชมรมผู้ผลิตชุดเครื่องแบบนักเรียนมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.(ประเทศไทย) ได้ยื่นหนังสือถึง รมว.ศธ.กรณีปัญหาคุณภาพเครื่องแบบนักเรียนนั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาถึงสาเหตุของปัญหาและจะฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องด้วย เพราะในอดีตให้โรงเรียนเป็นผู้จัดซื้อเครื่องแบบนักเรียน และผู้ปกครองก็มาซื้อจากโรงเรียน กรณีนี้ตนเชื่อว่าหากโรงเรียนทราบถึงความต้องการของผู้ปกครอง ก็จะสามารถจัดหาเครื่องแบบนักเรียนที่มีคุณภาพและผ่านการรับรอง มอก.ได้อยู่แล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนวิธีการเป็นให้เงินกับผู้ปกครองไปเลือกซื้อเอง ซึ่งส่งผลถึงผู้ปกครองนักเรียนบางกลุ่มที่ยากจนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต้องเดินทางมาซื้อเครื่องแบบนักเรียนในเมือง จึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ได้รับฟังจากชมรมฯ และจะหาวิธีแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้ รมว.ศธ.เปิดเผยถึงการปรับโครงสร้างเพื่อยกฐานะให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นหน่วยงานระดับกรม โดยกล่าวว่าในเรื่องนี้ได้มีการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการปรับแบบเล็กๆ ไม่ใช่ปรับโครงสร้างใหญ่ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลของการปรับโครงสร้าง ก็พบว่า กศน. มีภารกิจและงานจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรหลักอื่นๆ
ที่มา
http://www.moe.go.th/websm/2013/jan/046.html