ผลวิจัยล่าสุดระบุว่า เด็กที่สะพายกระเป๋านักเรียนหนักเกินไปมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีอาการปวดหลังมากขึ้น
ผลการศึกษาพบว่า เด็กในช่วงวัยรุ่นที่สะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักร้อยละ 10-15 ของน้ำหนักตัว มีโอกาสเสี่ยงที่จะปวดหลังและอาการผิดปกติที่กระดูกสันหลัง ปัญหาดังกล่าวอาจรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากพบว่าเด็กหลายคนมักสะพายเป้จนติดเป็นนิสัย
คณะนักวิจัยสเปนรายงานในวารสารเด็กของอังกฤษจากการศึกษาเด็กนักเรียนจำนวนกว่า 1,400 คนจาก 11 โรงเรียน ที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปีที่เมืองกาลิเซียทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน
การศึกษาแบ่งนักเรียนเป็น 4 กลุ่มตามน้ำหนักกระเป๋า และมีการชั่งน้ำหนักของเด็กสองครั้ง ในระหว่างที่สะพายและไม่สะพายกระเป๋า นอกจากนั้น ยังพิจารณาจากปัยจัยภายนอกอื่นๆ อาทิ ความสูง การใช้ชีวิต ประวัติการเล่นกีฬา และปัญหาด้านสุขภาพ
พบว่า 9 ใน 10 ของเด็กทั้งหมด สะพายกระเป๋าเป้ที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 7 กก. มากกว่าครึ่งสะพายเป้ที่มีน้ำหนักเกินกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว ขณะที่เกือบ 1 ใน 5 สะพายเป้ที่มีน้ำหนักเกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว
1 ใน 4 ของเด็ก กล่าวว่าพวกเขามีอาการปวดหลังมานานกว่า 15 วันก่อนหน้านี้ 7 ใน 10 ของเด็กได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการที่เกี่ยวข้องกับหลัง อาทิ กระดูกสันหลังคดหรือโค้งผิดรูป ขณะที่รายอื่นมีอาการปวดส่วนล่างของหลัง และอาการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลันและต่อเนื่อง นักวิจัยกล่าวว่า ยิ่งกระเป๋าหนักมากเพียงใด โอกาสที่เด็กจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคปวดหลังก็มีมากขึ้นเท่านั้น
เด็กในกลุ่มที่แบกกระเป๋านักเรียนน้ำหนักมากที่สุดมีความเสี่ยงถึงร้อยละ 50 ที่จะปวดหลัง และมีความเสี่ยงร้อยละ 40 ที่จะมีอาการเกี่ยวกับหลัง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่สะพายกระเป๋าน้ำหนักเบาที่สุด
ศาสตราจารย์อัลแบร์โต รัวโน ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซันติอาโก เด คอมโปสเตลในสเปน กล่าวสนับสนุนให้หน่วยงานทางการแพทย์และการศึกษาแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการแบกกระเป๋าหนักที่มีผลต่อสุขภาพซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ไม่ยาก
โดย - มติชน *
------------------------------------------------------------------------------------------
การแบกกระเป๋าหนักๆ ไม่เพียงแต่จะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายเท่านั้น ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กด้วย ถึงแม้จะไม่มาก แต่ ก็คุณหมอท่านนี้บอกว่า การที่เด็กสะพายกระเป๋านักเรียนหนัก ๆ เป็นประจำ กล้ามเนื้อทั้งไหล่ ทั้งเอวจะเมื่อยล้า เป็นไปได้ที่สมาธิในการเรียนรู้ของเด็กจะลดลง
"ก็ เหมือนผู้ใหญ่นั่นแหละ หากต้องแบก หรือยกอะไรหนัก ๆ ก็ต้องเมื่อยล้าเป็นธรรมดา แต่สำหรับเด็กผมคิดว่ากระเป๋ามันหนักเกินไปนะ ต้องมีใครเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะโรงเรียนที่ควรเข้ามามีส่วนช่วยเด็ก โดยหาตู้ หรือโต๊ะเพื่อไว้เก็บสัมภาระ หรือหนังสือ รวมถึงสอนเด็กจัดตารางสอนให้พอดี และถือของเท่าที่จำเป็นไปโรงเรียน ซึ่งพ่อแม่ และโรงเรียนต้องให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ด้วยครับ" ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและข้อเผย
ด้าน แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ทางศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีข้อเสนอแนะไว้เป็นทางเลือกว่า- เลือกใช้กระเป๋ามีล้อเข็น ช่วย ลดความเสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อ ลดน้ำหนักกดทับกระดูกสันหลัง อย่างไรก็ตามเด็กนักเรียนก็ยังคงต้องแบกหิ้วกระเป๋าล้อเข็นขึ้นลงรถโดยสาร หรือบันไดอยู่ดี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มได้ง่าย พ่อแม่ควรพิจารณาน้ำหนักโดยรวมทั้งหมดต้องไม่ควรเกิน 20 % ของน้ำหนักตัว เช่น เด็กน้ำหนักประมาณ 20 ก.ก. น้ำหนักกระเป๋าไม่ควรเกิน 4 ก.ก.
- การใช้กระเป๋าแบกหลังต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับเด็ก มี ช่องว่างใส่ของเพียงพอ และจัดวางอย่างเหมาะสมโดยให้น้ำหนักกระจายไปทั่วกระเป๋า สายสะพายไหล่ควรมีความกว้างกว่า 6 ซ.ม. สายที่เล็กจะทำให้กดทับบริเวณไหล่ ซึ่งอาจกดลึกจนมีผลต่อกล้ามเนื้อ และเส้นประสาทได้
- การใช้กระเป๋าสะพายหลัง ต้อง ปรับสายสะพายเพื่อให้กระเป๋าแนบหลัง ไม่ห้อยต่ำ ก้นกระเป๋าต้องไม่อยู่ต่ำแหน่งที่ต่ำกว่าบั้นเอว และผู้ใช้ต้องเดินตัวตรง ไม่เอนตัวไปข้างหน้า
- การแบกกระเป๋าต้องใช้สายสะพายไหล่ทั้งสองข้างเพื่อให้น้ำหนักกระจายตัวอย่างสมดุล การสะพายไหล่ข้างเดียวจะมีความเสี่ยงสูงต่อการปวดต้นคอ ไหล่ และหลังได้ เพราะน้ำหนักถ่วงไม่สมดุลย์นั่นเอง
ถึง เวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ทั้งหลาย ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที เพราะไม่เช่นนั้น เด็กในวันนี้อาจมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพตามมาในอนาคตได้ นั่นหมายความว่า คุณภาพในการใช้ชีวิตของเด็กอาจด้อยลงตามไปด้วย
ที่มา ThaiHealth